แนวคิดพอเพียงในอีกมุมมองหนึ่ง

เมื่อพูดถึงแนวคิดพอเพียงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างขึ้น โดยการวิเคราะห์แนวคิดพอเพียงจะออกมาได้ 2 ขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนแรกจะต้องเริ่มจากการทำอะไรก็ตามจะต้องไม่เกินตัว ความ “ไม่เกินตัว” จะมีขอบเขตที่ครอบคลุมแนวคิดพอเพียง “ความไม่เกินตัว” สามารถจะพูดได้ว่าเป็นเรื่องของ “ความพอประมาณ” หรือ “ความพอดี” ของคน ๆ นั้น ในขั้นตอนที่ 2 ที่ต่อเนื่องจาก “ความไม่เกินตัว” ก็คือ “ความรู้จักพอ” ซึ่งจะมีลักษณะที่น้อยกว่า “ความไม่เกินตัว” จะเป็นลักษณะที่ประหยัดกว่าความไม่เกินตัว เพื่อเกิดความเข้าใจจะขอยกตัวอย่างดังนี้ สมมติว่า นาย ก. มีรายได้ประมาณเดือนละ 40,000 บาท ซึ่งสามารถจะซื้อรถยนต์ขนาด 2,000 ซีซี ได้อย่างสบาย (ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกินตัว เพราะนาย ก. มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อ) แต่ถ้านาย ก. จะใช้หลักความพอเพียงในขั้นตอนที่ 2 ก็สามารถจะใช้ “ความรู้จักพอ” (ที่ต่อเนื่องจากความไม่เกินตัว) โดยจะหาซื้อรถยนต์ขนาด 1,500 ซีซี ก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แนวคิดพอเพียงจะมีหลักคิดมาอยู่ตรงที่ “ความรู้จักพอ” ซึ่งจะมีการใช้จริงที่ประหยัดกว่าหลักของความไม่เกินตัว ดังนั้นถ้าคนที่ใช้แนวคิดพอเพียง ควรจะมองมาที่ “ความรู้จักพอ” มากกว่า “ความไม่เกินตัว” ความรู้จักพอจะมีความหมายคล้ายกับความมีสมถะ โดยจะยึดกับความรู้จักพอมากกว่าความไม่เกินตัว